๓ - อยู่แถบป่า

อาจารย์ ญาณิโก

๓ - อยู่แถบป่า

วัดเรามีทางเดินรอบยาวกว่า 4 กิโลเมตรหรือ 2.5 ไมล์ เริ่มต้นจากบริเวณศาลา โยมก็เดินขึ้นบันไดปูนผ่านพระพุทธรูปทองไป ทางเดินลาดชันนี้ผ่านทุ่งหญ้าน้อยๆ ชื่อทุ่งหญ้าจอร์แดน ข้ามถนนแล้วเลี้ยวขวา จากนั้นก็จะผ่านทางเข้ากุฏิพระห้าหลัง แล้วเดินข้ามสะพานไม้เล็กๆ เพื่อเข้าสู่ส่วนที่เป็นป่าดงพงไพรอย่างแท้จริง ในช่วงต่อไปราวสองกิโลเมตรครึ่ง หรือ 1.5 ไมล์ จะผ่านทางเข้าบริเวณซึ่งเคยเป็นที่ตั้งเต้นท์ของหลวงพ่ออมโร ตามมาด้วยน้ำตกน้อยๆ และผ่านทางเดินกำลังทำใหม่เพื่อขึ้นสู่บริเวณที่จะสร้างเจดีย์ จากจุดนี้เอง โยมก็เริ่มเดินลดระดับลงสู่ป่าชั้นในซึ่งเราเรียกกันว่า คูลโอ้คซ์ อันเป็นกลุ่มต้นไม้ใหญ่ร่มเย็นราวกับมีพลังสงบ และยังมีลำธารต้นน้ำเล็กๆ สามสายไหลลงจากยอดเขามาบรรจบกันที่นี่ด้วย จากนั้นก็เริ่มเดินวนลงเขาสู่จุดที่เราเรียกกันว่า ฮาวาย ซึ่งมีศาลน้อยๆสำหรับประดิษฐานไม้แกะสลักหลวงปู่ชา เดินลงมาเรื่อยๆ จะผ่านทุ่งหญ้าจอร์แดนอีก แล้วกลับมาสู่บริเวณศาลาในที่สุด ชาววัดเราบางรูปบางคนเดินบนเส้นทางนี้ทุกวัน แหละยังมีชาวท้องถิ่นมาแวะเยือนเพียงเพื่อเดินเขาผ่านป่าดังที่อาตมาได้เล่ามาโดยสังเขป

ในช่วงเข้ากรรมฐานฤดูหนาว มีพระกลุ่มย่อยได้ไต่ขึ้นไปสวดมนต์ทำวัดเย็นและภาวนากันบนลานธรรมชาติที่จะสร้างเจดีย์ ทำเลนี้จัดว่าลำบากที่สุดจุดหนึ่งในการขึ้นถึงในบรรดาตำแหน่งที่ตั้งยากๆ ทั้งอาณาบริเวณวัดเราเลยทีเดียว ก็เพิ่งไม่นานมานี้เองที่เราไม่ต้องไต่ฝ่าพุ่มไม้รกทึบและต้นเมนซานิต้าขึ้นไปเหมือนดังในอดีตอีกต่อไป อาตมายังจำได้ว่าว่า เมื่อปี ค.ศ. 2002 ครั้งยังเป็นผ้าขาวหรืออนาคาริก หลวงพ่ออมโรได้บอกทางบุกป่าขึ้นสู่ลานเจดีย์นี้ ซึ่งอาตมาก็ไต่ไปตามนั้น แล้วในทันใดนั้นก็ก้าวสวบลงไปในหลุมใหญ่ ทำให้เข่าซ้ายต้องบาดเจ็บจากถูกเหยียดยืดเกินขนาด

เจดีย์ หรือบางทีเรียกกันว่าสถูปนั้น เป็นปูชนียสถานที่บรรจุมงคลวัตถุอันศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เช่น พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า อัฐิธาตุของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ผู้ได้เมตตาสอนการปฏิบัติภาวนา และสิ่งอันเป็นมงคลอื่นๆ ในอนาคตนั้น เจดีย์ที่วัดเราวางแผนจะสร้างนั้นจะมีขนาดไม่ใหญ่มาก คาดว่าจะมีฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาว 12 ฟุต หรือราว 3.65 เมตร และสูงไม่เกิน 30 ฟุต หรือ 9 เมตรโดยประมาณ เจดีย์ที่คาดว่าจะสร้างนี้มีภูมิหลังที่น่าสนใจ กล่าวคือ เราได้พบเสาไม้เรดวู้ดเก่าขนาดใหญ่ที่ถูกตัดไปนานแล้วอยู่สี่ต้น และติดสายไฟกับสายเคเบิ้ลพร้อมกับฉนวนกันไฟเป็นกระเบื้องเคลือบ เราสันนิษฐานกันว่า ทำเลนั้นอาจเคยเป็นที่ตั้งเสาไฟฟ้าหรือเสาโทรเลขสมัยก่อน หลวงพ่อปสันโนและหลวงพ่ออมโรท่านได้ค้นพบลานบนสันเขานี้จากการที่พบสายไฟทองแดงหนึ่งสายและก็ลัดเลาะตามสายนี้ขึ้นเขาไปจนถึงจุดราบบนชะง่อนเขาแคบๆ ที่ยื่นออกมาสู่ใจกลางของอาณาบริเวณพื้นที่วัดเรา

เมื่อฤดูใบไม้ร่วง ปี ค.ศ. 2018 พวกเราได้แผ้วถางเพื่อเป็นการเริ่มต้นทำทางเดินขึ้นสู่ลานที่จะสร้างเจดีย์ดังกล่าว โดยเริ่มจากตำแหน่งสูงสุดของทางเดินรอบวัดตรงจุดก่อนจะเดินต่อไปยังคูลโอ้คซ์ และในปีต่อมาคือปี ค.ศ.2019 เราก็เริ่มขั้นตอนการขุดตัดขั้นบันใดทีละน้อยเพื่อให้เป็นทางเดินใหม่อีกเส้น เส้นทางสู่เจดีย์นี้เป็นโครงการที่ทำกันต่อไปเรื่อยๆ และยังอีกสักพักกว่าจะแล้วเสร็จ แหละในที่สุด เมื่อเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่เหมาะสมมาบรรจบพร้อมกัน เราก็จะได้สร้างพระเจดีย์น้อยองค์หนึ่ง ซึ่งจะสามารถมองเห็นได้จากแทบทุกจุดในบริเวณพื้นที่วัดจากทิศทางต่างๆ

เส้นทางเดินขึ้นสู่เจดีย์นั้นตัดผ่านบริเวณที่ขรุขระและลาดชันที่สุดแห่งป่าดงพงไพร 700 ไร่ของวัดเรา เมื่อขึ้นไปตามทางราว 100 ฟุต หรือสามสิบเมตรครึ่ง ก็จะมีทางแยก หากเลี้ยวขวาก็จะไปถึงที่ตั้งเต้นท์ที่เราเรียกกันว่า ด่านนอก เมื่ออากาศเริ่มอุ่นขึ้น ท่านติสสโรก็ได้ย้ายออกจากกุฏิเพื่อไปพำนักในเต้นท์ ณ จุดที่ห่างไกลนี้ ที่นั่นมีสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตภายนอกในธรรมชาติ คือ มีทางเดินจงกรม มีพื้นที่ราบเล็กๆ กว้างพอตั้งเต้นท์ และมีส้วมหลุมแล้ว ดียิ่งขึ้นด้วยที่เป็นหนึ่งในไม่กี่จุดที่ปราศจากเสียงรบกวนไกลขึ้นมาจากถนนใหญ่ สำหรับภิกษุที่แสวงหาการดำเนินชีวิตภายนอกในธรรมชาติและสันโดษนั้น จัดได้ว่า ด่านนอก เยี่ยมที่สุดเลย

เราเคยได้ยินกันมาเรื่องที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์สมัยก่อนท่านปฏิบัติด้วยการเดินจงกรมกันอย่างไรบ้าง บางรูปท่านแทบจะใช้ชีวิตบนทางเดินจงกรมเอาเลย หลังฉันภัตตาหารมื้อเดียวเสร็จ ท่านก็นำผ้าจีวรไปผึ่งบนราวแล้วเริ่มเดินจงกรม บางรูปอาจมีที่ไว้สำหรับนั่งสมาธิปลายทางเดินจงกรม หากท่านรู้สึกอยากนั่งสมาธิหลังเดินจงกรมสักพัก ท่านก็นั่งลงทำสมาธิตรงนั้นเลย และหากท่านตั้งใจที่จะปฏิบัติภาวนาอย่างต่อเนื่อง ในบางคืนท่านก็อาจนอนลงตรงทางเดินจงกรม เพื่อที่จะได้เดินจงกรมต่อไปทันทีที่ตื่นขึ้นมา มีคำกล่าวว่า ผู้ที่เดินจงกรมมากย่อมบรรลุธรรมได้รวดเร็ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสยกย่องการเดินจงกรมไว้ ดังปรากฏในพระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย จังกมสูตร ว่า -

ดูกรภิกษุทั้งหลายอานิสงส์ในการจงกรม ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุผู้เดินจงกรมย่อมเป็นผู้อดทนต่อการเดินทางไกล ๑ ย่อมเป็นผู้อดทนต่อการทำความเพียร ๒ ย่อมเป็นผู้มีอาพาธน้อย ๓ อาหารที่ดื่ม กิน เคี้ยว ลิ้มแล้วย่อมย่อยไปโดยดี ๔ สมาธิที่ได้จากการเดินจงกรมย่อมตั้งอยู่ได้นาน ๕ ดูกรภิกษุทั้งหลายอานิสงส์ในการจงกรม ๕ ประการนี้แล ๚ - อังคุตตรนิกาย ๕.๒๙

ยังมี สามเณรอีกรูปหนึ่งที่ ได้ย้ายออกไปตั้งเต้นท์บริเวณที่หลวงพ่ออมโรท่านเคยพำนักช่วงห้าปีแรกของการสร้างวัด ในเต้นท์ผ้าใบเหมือนสมัยสงครามกลางเมืองแห่งชาติอเมริกา อาตมาเองก็เคยอาศัยอยู่ที่นั่นเป็นช่วงๆ ในหลายปีที่ผ่านมา และได้พบเห็นสัตว์ป่าประจำถิ่นเกือบทุกชนิด เช่น หมี เสือภูเขา กวาง สุนัขจิ้งจอก และแม้กระทั่งกบยักษ์บูลฟร้อกตัวหนึ่งท่ามกลางอากาศระอุแห่งฤดูร้อน

ท่านติสสโรมาสอบถามอาตมาหลังจากได้ย้ายออกไป”นอกค่าย” สู่ ด่านนอกแล้ว ว่า “ท่านอาจารย์ครับ เราจะจัดการกับความกังวลเรื่องสัตว์ป่าอย่างไรดีครับ โดยเฉพาะ เสือภูเขา ซึ่งในโลกของความเป็นจริงก็คือ เราไปอยู่ในเขตอาศัยของเสือมิใช่หรือครับ?” ระหว่างที่ท่านพูดอยู่ อาตมาก็หวนนึกถึงคำสอนของหลวงปู่ชาที่เคยอ่านเมื่อท่านแนะนำไว้ว่า พระสงฆ์ที่อาศัยในป่าดงก็ต้องไม่ละเลยการสวดมนต์ทำวัตรเช้าและทำวัตรเย็น เมื่อพิจารณาดังนี้ อาตมาก็ตระหนักว่าการเตือนตนให้สวดมนต์นั้นช่วยให้เราเกิดความรู้สึกถึงความปลอดภัยและมั่นคง พร้อมกับตั้งจิตสู่การปฏิบัติอันมุ่งความสงบ ตราบใดที่เรายังมีทัศนคติว่า “อะไรจะเกิด ก็ย่อมเกิด” และรู้ว่าเรากำลังปลูกฝังสิ่งอันเป็นกุศลพร้อมกับความเงียบในจิต ความรู้สึกสงบเย็นก็จะเกิดขึ้นระหว่างที่อาศัยอยู่ในป่า การหล่อเลี้ยงจิตใจด้วยสิ่งอันเป็นกุศล และยอมรับได้ถึงความไม่แน่นอนของโลกนั้น นอกจากจะนำความสงบสันติมาให้แล้ว ยังน้อมเราเข้าสู่ความเข้าใจในธรรมะยิ่งขึ้น ซึ่งก็เป็นเหตุผลแต่เริ่มแรกที่นำพวกเราส่วนมากมาใช้ฃีวิตในวัดนั่นเอง ดังที่กล่าวในพระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย นาคสูตร ว่า –

ผิฉะนั้น เราพึงหลีกออกจากหมู่ไปอยู่ผู้เดียว เธอเสพเสนาสนะ คือป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธออยู่ป่า โคนไม้ หรือเรือนว่าง นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงดำรงสติไว้เบื้องหน้า… - อังคุตตรนิกาย ๙.๔๐