เป้าหมาย

วัดป่าอภัยคีรีเป็นสถานที่สำหรับสาธุชนทุกท่าน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ทุกท่านได้มีโอกาสสัมผัสกับหลักคำสอนทางพุทธศาสนาและสามารถนำหลักคำสอนนี้ไปพัฒนาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน วัดป่าฯมีต้นกำเนิดมาจากพุทธศาสนานิกายเถรวาทสายวัดป่าไทยซึ่งเปิดกว้างแก่สาธุชนทุกลัทธิศาสนาและนิกายที่ถือหลักตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าคือ ทาน ศีล ภาวนา ปัญญา และความกรุณา

โดยอาศัยหลักพื้นฐานตามข้อวัตรปฏิบัติดั้งเดิม อภัยคีรีเปิดโอกาสให้สำหรับทั้งผู้ชายและผู้หญิงได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างสันโดษตามป่าเขาลำเนาไพร มุ่งเน้นการเจริญสมาธิภาวนาและการมีวินัยต่อตนเอง ทั้งนี้เพื่อเอื้ออำนวยต่อการเข้าสู่มรรคผลนิพพานตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

วัดป่าฯเป็นสถานที่สำหรับสาธุชนหลากหลายรูปแบบ คือเป็นที่พักอาศัยสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมอย่างถาวร เป็นปูชนียสถานสำหรับแขกผู้มาเยือนประจำและเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของผู้คนชาวโลก วัดป่าฯบรรลุเป้าหมายหน้าที่ดังกล่าวได้โดยผ่านการยึดถือข้อวัตรปฏิบัติและเผยแผ่ผลของการปฏิบัติภาวนาอย่างเปิดเผยกว้างขวาง

หัวใจสำคัญของอภัยคีรีคือ คณะพระภิกษุสงฆ์ สามเณร อนาคาริก อุบาสกและอุบาสิกา ซึ่งเป็นผู้ที่ดำเนินชีวิตและปฏิบัติตามหลักคำสอนทางพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังมีคณะนักบวชทางพุทธศาสนาจากสาขาต่างๆทั่วโลกมาพำนักอาศัยอยู่เป็นระยะๆ

คณะพระภิกษุสงฆ์และนักบวชที่พำนักอาศัยอยู่ ณ วัดป่าอภัยคีรีแห่งนี้ ดำเนินชีวิตตามหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า โดยมีความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย รักษาพรหมจรรย์ และสันโดษ อาศัยจิตศรัทธาจากญาติโยมในการอุปถัมภ์เครื่ิองอุปโภคบริโภคและเสนาสนะทั้งหลาย หลักพระธรรมวินัยนี้เป็นแนวทางการฝึกปฏิบัติเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์และนักบวชมีการดำรงชีพอย่างรอบคอบ ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท โดยอาศัยเพียงปัจจัยสี่ ได้แก่ จีวรเครื่องนุ่งห่มซึ่งประกอบด้วยผ้าสามผืน ฉันอาหารหนึ่งมื้อในบาตร ยารักษาโรค และเสนาสนะสำหรับพักอาศัยและเจริญภาวนา

พระธรรมวินัยเป็นเครื่องประสานความสัมพันธ์ระหว่างพระภิกษุสงฆ์และสาธุชนทั้งหลาย คณะสงฆ์มิอาจดำรงชีพอยู่ได้โดยปราศจากกำลังกายและจิตศรัทธาของญาติโยมที่นำอาหารและเครื่องอุปโภคต่างๆมาอุปถัมภ์วัดอย่างต่อเนื่อง และสิ่งสำคัญที่ช่วยส่งเสริมกำลังศรัทธาของญาติโยมที่มีต่อวัดและคณะสงฆ์อย่างยืนยาวคือ การเป็นตัวอย่างของความประพฤติปฏิบัติที่ดีงามของคณะสงฆ์อันเหมาะสมต่อการได้รับความอุปถัมภ์ ความสัมพันธ์รูปแบบนี้ช่วยเจริญพัฒนาความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความกรุณาและความปรารถนาดีต่อกันและกัน

การดำรงชีพแบบพึ่งอาศัยซึ่งกันและกันนี้เป็นแรงกระตุ้นให้พระภิกษุสงฆ์และนักบวชมีกำลังศรัทธาความมั่นใจและความพอใจในความเป็นอยู่อย่างนอบน้อมถ่อมตน ในขณะเดียวกันนี้ก็เป็นการเปิดโอกาสให้สาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระศาสนาได้ฝึกและปฏิบัติความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่นด้วยความยินดี พระภิกษุสงฆ์เปรียบเสมือนเป็นผู้นำทางของสาธุชนให้เข้าสู่กระแสธรรมด้วยการแสดงธรรมคำสอนตามพระศาสนาและดำรงชีวิตอยู่แบบสมณะเพศให้เห็นเป็นตัวอย่าง

ท่านอาจารย์ปสันโนและท่านอาจารย์อมโรได้ทำหน้าที่เจ้าอาวาสร่วมกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 ท่านอาจารย์อมโรตอบรับคำเชิญเป็นเจ้าอาวาสวัดอมราวดี ในประเทศอังกฤษ ท่านอาจารย์ปสันโนจึงปฏิบัติหน้าที่ชี้นำวัดในฐานะเจ้าอาวาสรูปเดียวต่อมาอีกแปดปี และในฤดูใบไม้ผลิแห่งปี พ.ศ. 2561 ท่านก็ถอยจากบทบาทนี้เพื่ออำลาไปปลีกวิเวกในต่างแดนเป็นเวลาหนึ่งปี หลังจากการคืนสู่วัดในปีหน้า หลวงพ่อปสันโนเมตตาที่จะทำหน้าที่พระอาวุโสชี้นำคณะสงฆ์ต่อไป และชาววัดก็จะยังคงพึ่งแรงศรัทธาในพระรัตนตรัยและการปฏิบัติตามคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภายใต้การเป็นเจ้าอาวาสร่วมกันของท่านอาจารย์กรุณาธรรมโมและท่านอาจารย์ญานิโก