๒ - ตัดเย็บจีวร

อาจารย์ ญาณิโก

๒ - ตัดเย็บจีวร

จีวรสำหรับพระภิกษุสงฆ์ทุกนิกายนั้นต่างถูกตัดเย็บตามลายนาข้าว สีจีวรต่างกันออกไปตามสีย้อมธรรมชาติที่ใช้กันในแต่ละประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ในธิเบตสมัยโบราณ พระสงฆ์ใช้ดินสีแดงผสมหญ้าฝรั้นสีส้ม ในศรีลังกา จีวรถูกย้อมด้วยไม้มะฮอกกานี ส่วนที่วัดป่ามากมายในประเทศไทย พระสงฆ์ยังคงย้อมจีวรด้วยแก่นขนุนกันอยู่ ต่อมาสีจีวรมีความหลากหลายในแต่ละประเทศที่พุทธศาสนาแพร่เข้าไป วิธีการนุ่งห่มจีวรก็มีหลายแบบ ทว่า ลวดลายนาข้าวที่ตัดเย็บยังคงเหมือนกันทุกที่ เรื่องราวกำเนิดการเย็บจีวรลายนาข้าวนี้ ปรากฏในหน้าที่ 275 แห่งคัมภีร์มหาวรรค ภาค 2 ซึ่งเป็นหมวดหนึ่งในพระวินัยปิฎก เล่ม 5 คือ จีวรขันธกะ ดังนี้

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จพระดำเนินไปทางทักขิณาติรีชนบท พระองค์ทอดพระเนตรเห็นนาของชาวมคธ ซึ่งเขาพูนดินขึ้นเป็นคันนาสี่เหลี่ยม พูนคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง พูนคันนาคั่นในระหว่างๆ ด้วยคันนาสั้นๆ พูนคันนาเชื่อมกันดังทาง ๔ แพร่ง ตามที่ซึ่งคันนากับคันนาตัดผ่านกันไป ครั้นแล้วรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า
“อานนท์ เธอเห็นนาของชาวมคธ ซึ่งเขาพูนดินขึ้นเป็นคันนาสี่เหลี่ยม พูนคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง พูนคันนาคั่นในระหว่างๆ ด้วยคันนาสั้นๆ พูนคันนาเชื่อมกันดังทาง ๔ แพร่ง ตามที่ซึ่งคันนากับคันนาตัดผ่านกันไป หรือไม่”
“เห็นตามพระพุทธดำรัส พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอสามารถแต่งจีวรของภิกษุทั้งหลายให้มีรูปอย่างนั้นได้หรือไม่ อานนท์”
“สามารถ พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ในทักขิณาติรีชนบทตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จพระดำเนินกลับมาพระนครราชคฤห์อีก ครั้งนั้นท่านพระอานนท์แต่งจีวรสำหรับพระภิกษุหลายรูป ครั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้กราบทูลว่า “ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงทอดพระเนตรจีวรที่ข้าพระพุทธเจ้าแต่งแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงธรรมีกถาในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นคนฉลาด อานนท์เป็นคนเจ้าปัญญา อานนท์ได้ซาบซึ้งถึงเนื้อความแห่งถ้อยคำที่เรากล่าวย่อได้โดยกว้างขวาง อานนท์ทำผ้าชื่อกุสิก็ได้ ทำผ้าชื่ออัฑฒกุสิก็ได้ ทำผ้าชื่อมณฑลก็ได้ ทำผ้าชื่ออัฑฒมณฑลก็ได้ ทำผ้าชื่อวิวัฏฏะก็ได้ ทำผ้าชื่ออนุวิวัฏฏะก็ได้ ทำผ้าชื่อคีเวยยกะก็ได้ ทำผ้าชื่อชังเฆยยกะและทำผ้าชื่อพาหันตะก็ได้ จีวรจักเป็นผ้าที่ตัดแล้วเศร้าหมองด้วยศัสตราสมควรแก่สมณะและศัตรูไม่ต้องการ”
- มหาวรรค VIII.12.2

หากมีผู้ประสงค์จะอุปสมบทที่วัดอภัยคีรี เขาจะต้องตัดเย็บและย้อมไตรจีวรทั้งสามผืนตั้งแต่ขั้นตอนแรก ประกอบด้วย อันตรวาสกหรือสบงในภาษาไทยสำหรับนุ่งที่พันขึ้นมารอบเข่าคาดด้วยสายเข็มขัดรัดม้วนผ้า แล้วยังมีอุตราสงค์ หรือผ้าจีวรห่มที่เรียกสั้นๆว่าจีวรในภาษาไทย พระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทห่มจีวรในโอกาสสำคัญ พบญาติโยม เวลาฉัน หรือเมื่อออกจากวัด เช่นเวลาออกบิณฑบาต และผ้าผืนที่สามคือสังฆาฏิเป็นผ้าพาดบ่าสองชั้น ที่เรามักจะเห็นพับเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแล้วพาดไหล่ซ้ายระหว่างพระสงฆ์สวดมนต์ทำวัตรเช้าและเย็น นอกจากนี้ยังใช้สังฆาฏิพับทบกันแทนผ้าห่มหรือแทนจีวรยามจำเป็น

สามเณรธมฺมวโรกำลังมุ่งตัดเย็บผ้าสบง สำหรับงานอุปสมบทที่จะมาถึงในไม่ช้า ท่านกำลังเย็บต่อชายขอบอยู่เวลานี้ ในฐานะคนเย็บผ้ามือใหม่ ท่านก็ได้รับประสบการณ์ของการเย็บผิดด้านและต้องค่อยเลาะออกมาเพื่อเริ่มต้นกันใหม่ ในเดือนข้างหน้านี้ ท่านจะต้องวาดแบบสำหรับจีวรและสังฆาฏิ เย็บ และย้อมด้วยเปลือกไม้มาโดรน่าที่ได้เริ่มเก็บสะสมไว้จากในป่าของเราในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา อาตมายังจำได้ว่า เมื่อหลายปีก่อน มีสามเณรรูปหนึ่งที่ได้เย็บและแก้สบงทั้งหมดสามรอบจนกว่าจะถูกต้อง

ไม่ทุกคนหรอกที่จะมีพรสวรรค์ในการตัดเย็บ แหละการเย็บไตรจีวรสามผืนครั้งแรกก็อาจเป็นเรื่องน่าหงุดหงิดใจ จะอย่างไรก็ตาม ความหงุดหงิดอย่างนี้สอนเราได้ถึงการเริ่มต้นปล่อยวางอย่างแท้จริง การเย็บผ้าไตรจีวรนี้จะได้แนะให้รู้จักกับคุณลักษณะจำเป็นของการดำเนินชีวิตสมณะแห่งการภาวนาและการสละ – การแก้ปัญหาได้ ความแน่วแน่ และ ความเต็มใจที่จะไม่ยอมแพ้ต่อความยากลำบาก หลังจากนี้ เมื่อเย็บผ้าไตรจีวรเสร็จ พระเราก็จะดูแลรักษาเป็นอย่างดีเพราะเข้าใจได้ถึงความพากเพียรอุตสาหะในการตัดเย็บนี้

ลายตัดจีวรแบบนาข้าวนั้นยังหมายถึง กายคตาสติ หรือ การะลึกถึงธรรมชาติที่แท้จริงของร่างกาย ซึ่งสร้างขึ้นมาจากข้าวและอาหารอื่นๆ ชีวิตสมณะดำรงอยู่ได้จากหยาดเหงื่อของชาวไร่ชาวนาผู้เพาะปลูกเก็บเกี่ยวสิ่งที่เราฉัน จีวรที่เราห่มจึงเป็นสิ่งเตือนใจนี้ให้อยู่กับเราเสมอ ช่วยเตือนเราว่า กายนี้คืออะไรและมาได้อย่างไร

การทำน้ำย้อมจากวัสดุธรรมชาตินั้น เป็นกระบวนการที่ใช้แรงงานแต่ก็สร้างความพึงพอใจ น้ำย้อมปริมาณ 30 แกลลอนในถังขยะที่มีเปลือกมาโดรน่าหรือแมนซานิต้าเต็มจะพอดีสำหรับชุดไตรจีวรทั้งสามผืน เหมือนกันกับการทำน้ำย้อมด้วยแก่นขนุนในเมืองไทย เปลือกต้นไม้ตระกูลอาร์บูตัสในอเมริกาถูกนำมาต้มในหม้อแล้วย้ายน้ำเปลือกไม้ที่ที่เข้มข้นไปต้มต่อให้น้ำระเหยจนงวด อีกหม้อหนึ่งก็ต้มเปลือกสดราว 30 นาที แล้วกรองใส่ลงไปในส่วนที่เข้มข้น รวมทั้งสิ้น ต้มน้ำย้อมด้วยเปลือกอย่างน้อย 25 ชุดแล้วเทใส่ลงไปในหม้อเข้มข้น ก่อนจะได้น้ำย้อมสีเข้มและกลิ่นฝาดคล้ายยา กระบวนการดังกล่าวใช้เวลา 3 ถึง 5 วัน ข้อดีของเปลือกไม้ชนิดนี้คือ เป็นทรัพยากรที่คืนมาเรื่อยๆ เพราะต้นมันจะมีเปลือกลอกออกมาเองตามธรรมชาติในทุกฤดูร้อนยามอากาศร้อน การเก็บรวบรวมก็เพียงเดินไปรอบป่าและเมื่อพบต้นมาโดรน่าก็ถูให้เปลือกบางกรอบหลุดลงมาในถุงรองรับ

เมื่อการตัดเย็บเสร็จเรียบร้อย เราซักให้สะอาดปราศจากสิ่งมันๆ จากมือ แล้วใส่ลงไปในหม้อย้อม ทิ้งไว้ในนั้นราว 2-3 ชั่วโมง หรืออาจเป็น 2-3 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดของผ้าและเวลาที่เรามี หลังการย้อมรอบแรก สีของผ้าจะยังซีด จะต้องย้อมซ้ำอีกสองสามครั้งให้สีเข้มตามต้องการ เมื่อสวมใส่จีวรนี้สักระยะ สีย้อมจะซึมทั่วดีและสีเรียบไม่ด่าง ด้วยจีวรนุ่งห่มจากการผสมผสานกับต้นไม้ในสภาพแวดล้อมโดยรอบ พระป่ารูปหนึ่งก็พร้อมที่จะ “ถลาสู่หมู่ไม้” ดังที่กล่าวไว้ในพระสูตร แล้วใช้คุณลักษณะที่พัฒนามาดีในระหว่างการตัด เย็บและย้อมจีวร มุ่งมั่นในการปลูกฝังจิตจากการนั่งภาวนาสมาธิและเดินจงกรมต่อไป